นมเพื่อรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว (eHF)
คุณแม่ที่มีลูกที่เสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้หลายท่านอาจไม่รู้ตัวและไม่ทันได้มีโอกาสป้องกันโรคภูมิแพ้ให้ลูกได้ทันท่วงที มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อลูกแสดงอาการแพ้แล้ว และอาการแพ้แรกๆของลูกอาจเป็นการแพ้โปรตีนนมวัว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แพ้จึงจำเป็นจะต้องงดอาหารที่มีนมวัว ในรายที่ยังกลับไปกินนมแม่ได้ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดโดยแม่เพียงแต่งดกินนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แต่ในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ แพทย์จะแนะนำนมสูตรสำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัว
นมเพื่อการรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว (eHF) คืออะไร
- ผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษาที่ประกอบด้วยโปรตีนนมวัวผ่านกระบวนการย่อยอย่างละเอียด หรือ extensive hydrolyzation ซึ่งเป็นกระบวนการหลักที่ใช้ลดขนาดของโปรตีนลง และกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยมาก นมสูตรนี้จึงเรียกว่า extensively hydrolyzed formula หรือ eHF และด้วยวิธีการผลิตที่พิเศษเพื่อย่อยสลายโปรตีนให้ละเอียด ทำให้นมสูตรนี้มีกลิ่นและรสที่แรงกว่านมทั่วไป แพทย์สามารถเลือกใช้นม eHF ทั้งในช่วงแรกสำหรับวินิจฉัยเพื่อยืนยันการแพ้ หรือใช้ทดแทนนมสูตรทั่วไปเพื่อรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายจากอาการแพ้ โดยเด็กที่แพ้นมวัวมากกว่า 90% สามารถหายจากอาการแพ้ได้ด้วยนมสูตรนี้1
นมเพื่อการรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว eHF มีอะไรบ้าง
- เนื่องจากโปรตีนชนิดหลัก 2 ชนิดในนมประกอบด้วยเคซีน และเวย์ ปัจจุบันจึงมี eHF ทั้งที่ทำจากเคซีน และเวย์ โดยทั่วไปแล้วคุณค่าโภชนาการของโปรตีนเคซีนจะด้อยกว่าเวย์เล็กน้อยจึงต้องมีการเติมกรดอะมิโนบางชนิดเพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการของเด็ก และกระบวนการผลิตสูตรเวย์อาจช่วยให้นมมีรสชาติที่ดีกว่าเคซีนด้วย นอกจากนี้สูตรเวย์ยังประกอบด้วยแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลธรรมชาติเหมือนในนมแม่ เพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม2 แลคโตสส่วนน้อยที่หลงเหลือถึงลำไส้ใหญ่ยังเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ3 ที่สำคัญคือช่วยให้เอนไซม์แลคเตสของเด็กยังคงทำงานอยู่จนถึงวันที่เด็กหายจากอาการแพ้โปรตีนนมวัว และกลับมาดื่มนมวัวได้โดยไม่ท้องเสียง่าย นอกจากนี้การเสริมพรีไบโอติกเพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้เด็กทำให้เกิดสภาวะที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของระบบภูมิต้านทานโดยรวมด้วย เพราะเซลล์ภูมิต้านทานในลำไส้เป็นรากฐานของสุขภาพที่ดีในระยะยาว ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ในการเลือกสูตรเพื่อใช้การรักษาอย่างเหมาะสม
แนวทางเวชปฎิบัติการดูแลรักษาโรคภูมิแพ้โปรตีนนมวัว
Heyman MB. 2006.
Ito M. 1993.